หากจะเอ่ยถึงหนังอิงประวัติศาสตรเรื่องยิ่งใหญ่ในวงการหนังไทยที่กลายมาเป็นแฟรนไชส์หนังชุดมหึมา คงจะหนีไม่พ้นความอลังการของหนังชุด "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่กอบกู้อิสรภาพให้กับไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และยังทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทยออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ทั้งสี่ทิศของคาบสมุทรมลายู
เรื่องราวที่ถูกจารึกของพระองค์ได้ถูกตีแผ่ออกมาเป็นหนังฟอร์มใหญ่ ฉบับสมบูรณ์ 6 ภาค ที่ดำเนินเรื่องมาตั้งแต่ขณะทรงพระเยาว์ ผ่านศึกสงครามมาหลายเหตุการณ์ ผ่านมุมมองการถ่ายทอดเรื่องราวของ "หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล" และทีมงานระดับนานาชาติ ร่วมด้วยนักแสดงชั้นนำทั่วฟ้าเมืองไทย นี่จึงกลายเป็นหนึ่งแฟรนไชส์หนังไทยอันทรงคุณค่า อัดแน่นด้วยสาระความบันเทิง และเป็นหนังไทยที่มีการใช้งบประมาณสร้างที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งเลยทีเดียว
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา (2550) ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาคองค์ประกันหงสา พุทธศักราช 2106 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยาทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก ทัพพม่ารามัญซึ่งมีรี้พลเหลือคณานับได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรอยุธยา
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ (2550) พ.ศ. 2114 “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระมหินทราธิราชได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี (2554) การประกาศเอกราชที่เมืองแครง และสังหารสุระกำมาเหนือยุทธภูมิฝั่งแม่น้ำสะโตงของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (สมเด็จพระนเรศ) ในปีพุทธศักราช 2127 ได้สร้างความตระหนกแก่ “พระเจ้านันทบุเรง” องค์ราชันหงสาวดีพระองค์ใหม่ ด้วยเกรงว่าการแข็งข้อของอยุธยาในครั้งนี้จะเป็นเยี่ยงอย่างให้เหล่าเจ้าประเทศราชที่ขึ้นกับหงสาวดีอาศัยลอกเลียนตั้งตัวกระด้างกระเดื่องตาม แต่จนพระทัยด้วยติดพันศึกอังวะ จึงจำต้องส่งเพียงทัพ “พระยาพะสิม” และ “พระเจ้าเชียงใหม่” เข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ทางหนึ่งนั้นพระเจ้านันทบุเรงทรงประมาทสมเด็จพระนเรศ ด้วยเห็นว่ายังอ่อนพระชันษาคงมิอาจรับมือจอมทัพผู้ชาญณรงค์ทั้งสองได้ ทางหนึ่งก็สำคัญว่ากรุงศรีอยุธยายังบอบช้ำแต่คราวสงครามเสียกรุง ไพร่พลเสบียงกรังยังมิบริบูรณ์คงยากจะรักษาพระนคร
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง (2554) ผลจากการปราชัยของหงสาวดีในคราวศึกพระยาพะสิมและพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำให้พระเจ้านันทบุเรงทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวร และในความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยา จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์มาย่ำยีราชธานีสยาม กองทัพกษัตริย์ของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงมีความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามกว่าทุกศึก ประกอบด้วยช้าง 3,200 ทัพม้า 12,000 และไพร่ราบซึ่งมีจำนวนถึง 252,000 โดยมีนายทัพผู้ปรีชาสามารถมาร่วมรบ ทั้งพระมหาอุปราชา มังจาปะโร และลักไวทำมูทหารกล้า โดยพระเจ้าหงษาวดีตั้งทัพหลวงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ขนอนปากคู ทัพมังมอดราชบุตร์กับพระยาพระรามตั้งที่ทุ่งมะขามหย่อง ทัพพระยานครตั้งที่ปากน้ำพุทธเลา ทัพนันทสูตั้งที่ขนอนบางลาง ทัพพระเจ้าตองอูตั้งทุ่งชายเคือง ทัพพระมหาอุปราชาตั้งที่ขนอนบางตะนาว
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี (2557) ในปีพุทธศักราช 2129 พระองค์จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์ไพร่พลกว่า 2 แสนข้ามแดนเข้าตีกรุงศรีอยุธยาหมายชิงคืนเป็นประเทศราช ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศทรงใช้พระนครเป็นยุทธภูมิรับศึก และวางยุทธศาสตร์ตั้งรับในเชิงรุก คือมิทรงปล่อยให้ทัพหงสาที่ล้อมกรุงเป็นฝ่ายรุกรบแต่ฝ่ายเดียว แต่ทรงแต่งกองโจรบุกปล้นค่ายศัตรูให้ต้องตกเป็นฝ่ายรับจนมิอาจรุกเข้าเหยียบถึงคูพระนคร เมื่อล้อมกรุงนานเข้า ทัพหงสาวดีก็ขาดเสบียง สมเด็จพระนเรศก็ทรงนำเรือปืนขึ้นไปยิงถล่มค่ายหลวงพระเจ้านันทบุเรงจนพม่าแตกระส่ำระสาย จอมทัพพม่าบาดเจ็บสาหัสถึงกับเสียพระสิริโฉมและทุพพลภาพ พม่าต้องถอนทัพกลับหงสาวดี และขณะเมื่อค่ายหลวงพม่าแตกนั้น “แม่นางเลอขิ่น” (อินทิรา เจริญปุระ) ก็ได้ช่องช่วย “พระราชมนู” (นพชัย ชัยนาม) จากพันธนาการคืนเข้าอยุธยาได้
Comments
Post a Comment