Portrait of a Beauty จิตรกรหญิงในยุคโชซอนที่ต้องปลอมเป็นชาย ก่อนจะพบเจอเรื่องยุ่งเหยิงของความรักความสัมพันธ์ หนังหลายเรื่องเลยที่ใช้เวลาอยู่บนโลกยาวนานหลายปีกว่าจะถูกผู้คนค้นพบ บางเรื่องก้าวผ่านจากแผ่นฟิล์มที่ฉายตามโรงหนังมาจนถึงยุคดิจิตอล ผู้คนเพิ่งจะได้รับชมในรูปแบบสตรีมมิ่งทางทีวีหรือคอมพิวเตอร์ในบ้าน เช่นเดียวกันกับหนังเรื่องนี้ Portrait of a Beauty ที่เข้าโรงฉายมาตั้งแต่ปี 2008 แต่ในวันที่มันเข้าฉายใน Netflix และมีคนพูดถึง ทำให้เรามีโอกาสได้เปิดดูและความรู้จัก
มันเป็นหนังที่เล่าเรื่องเกาหลีในยุคโชซอน กับเรื่องราวที่ผสมผสานทั้งความรักและเสน่หาเย้ายวน เล่าเรื่องของจิตรกรหลวงที่เป็นผู้หญิงแต่เธอต้องปลอมตัวเป็นผู้ชายด้วยความจำเป็น จนทำให้ต้องเผชิญกับเหตุชีวิตที่ยุ่งเหยิง ผลงานของดาราหญิง คิมกยูริ กับบทบาทที่ชวนเคลิบเคลิ้มไปกับงานภาพอันงดงามและหวามไหว ได้เวลาย้อนกลับสู่เกาหลียุคโชซอนอีกครั้ง!
เพราะความมุ่งหวังจะแสวงหาช่องทางก้าวสู่เส้นทางในวังใหญ่ทำให้ชินฮันพยอง จิตรกรหลวงผู้พยายามเหลือเกินที่จะผลักดัน ชินยุนบก ลูกชายให้กลายเป็นจิตรกรหลวง ถึงขนาดหลอกลวงว่าเขามีฝีมือด้านการวาดภาพ ทั้งที่ผลงานทั้งหมดเป็นของน้องสาว ในที่สุด เพราะความอับอาย ฮันพยองก็ต้องสูญเสียลูกชายไป และผู้เป็นพ่อก็เลือกให้ ชินยุนจอง (Kim Gyu Ri/คิมกยูริ) น้องสาวของยุนบก ปลอมตัวเป็นพี่ชายใช้ชื่อ ชินยุนบก เข้าไปร่ำเรียนในโรงเรียนจิตรกรรมหลวงภายใต้การดูแลของอาจารย์ คิมฮงโด (Kim Young Ho/คิมยองโฮ) ผู้ที่พระราชาโปรดปราน
เพียงหนึ่งปี ยุนบก กลายเป็นจิตรกรที่ได้วาดภาพให้พระราชา เป็นที่ริษยาและถูกกลั่นแกล้งอยู่เนืองๆ ทั้งเธอยังต้องเก็บงำความลับนี้ไว้ แต่ยิ่งนานวันก็เหมือนยิ่งเสี่ยงที่ความลับนั้นจะถูกเปิดเผย หนึ่งคือ เธอสนิทสนมกับคังมู (Kim Nam Gil/คิมนัมกิล) ชายหนุ่มคนยากนักทำกระจก คนที่พาให้ยุนบกไปพบกับวิถีชีวิตชาวบ้านเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการวาดภาพของเธอ หลังพบว่าเธอเป็นผู้หญิง ความสัมพันธ์ก็ก่อตัวกลายเป็นความรัก ขณะเดียวกันก็กลายเป็นความปวดใจของคิมฮงโด เพราะอาจารย์ผู้นี้มีใจให้กับศิษย์สาว ความริษยาและความปรารถนาในตัวยุนบก….ล้วนนำมาซึ่งอันตราย
ไม่รู้ว่าจะมีใครเจอปัญหาเดียวกันหรือเปล่าในการดูหนังเกาหลีแนวพีเรียด เพราะด้วยเครื่องแต่งกาย ด้วยตัวละครฝ่ายชายที่ไว้หนวดเครา ทำให้เราสับสนใจการจดจำตัวละครได้ง่ายมาก จนทำให้บางทีหลุดไปจากการปะติดปะต่อเรื่องราว การจะดูหนังแนวนี้ สำหรับผมเอง บางทีต้องดูมากกว่าหนึ่งรอบ การดูหนังเกาหลีพีเรียดหนึ่งเรื่องจึงอาจจะใช้เวลาไปมากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ อยู่พอสมควร
ภาพรวมในส่วนของบทหนังนั้น ใช้ประโยชน์ของเรื่องเล่าของความปรารถนา อารมณ์ และความหึงหวง ผสมผสานเรื่องศิลปะเข้าไปสร้างมีมิติมากยิ่งขึ้น แทรกใส่แง่มุมความคิดเกี่ยวกับศิลปะไว้อย่างแยบคาย การแสดงออกทางศิลปะไม่น่าจะมีถูกมีผิด สมควรหรือไม่ที่จะต้องมีกรอบของศีลธรรมมาครอบไว้ ขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปะ ทุกสิ่งล้วนอยู่ที่จะตีความ จะมองเป็นสิ่งสวยงามหรืออนาจารก็ควรขึ้นอยู่กับผู้มอง หนังดูจะไม่ค่อยให้ยุนบกกับคังมูได้มีบทพูดกันมากนักระหว่างที่อยู่กันสองต่อสอง ส่วนใหญ่มักเป็นภาษากายและสายตาเสียมากกว่า ทุกอย่างดำเนินไปอย่างมีจุดพลิกผัน ผสมกับเรื่องอย่างว่าจึงชวนตามจนถึงตอนจบ จะเสียอยู่หน่อยก็ตรงที่พอถึงบทสรุป ดูเหมือนจะรวบรัดเร่งร้อนเกินไป เมื่อหนังจบลง เครดิตไหลขึ้นหน้าจอ คนดูจึงยังมึนๆ อยู่ว่า ‘อ้าว จบแล้วเหรอ’ อะไรประมาณนี้ อย่างที่ว่าไป แง่งามก็มี แต่ฉากวาบหวามนี่สิชวนให้ติดตาม
Comments
Post a Comment